ลายแคน

                   

                                          ท่วงทำนองแคน หรือ ลายแคน



ท่วงทำนองของแคนที่ถูกเป่าออกมานั้น ชาวอีสานเรียกว่า ลายแคน ซึ่งก็คือ จังหวะ ทำนองแคน นั่นเอง ลายแคนเป็นการสืบต่อกันมาจากความทรงจำหมอแคนในอดีต ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ลายแคนถูกประดิษฐ์ขึ้น จากการเลียนลีลา และท่วงทำนองหรือเสียงจากธรรมชาติ ซึ่งให้ความไพเราะจับใจ
ลายในความหมายของดนตรีอีสาน หมายถึง สิ่งที่มีมากกว่า 1 ขึ้นไปผสมผสานอยู่ในสิ่งเดียวกัน จะอยู่ในแนวเดียวกันหรือตัดกันก็ได้ เรียกว่า ลาย หรือ ลวดลาย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
  1. ลายที่สามารถสมผัสได้ด้วยตา เช่น ลายของอุปกรณ์เครื่องใช้ที่เกิดจากการถักทอจักสาน เช่น ผ้า ตระกร้า กระด้ง ฝาผนังบ้านโบราณ หรือลายที่เกิดจากการวาด เป็น ต้น
  2. ลายที่สามารถสัมผัสได้ด้วยตาและหู คือลายที่ใช้สำหรับดนตรีอีสาน ดนตรีอีสาน หมายถึง เพลงหรือท่วงทำนองและลีลาการบรรเลงดนตรีอีสาน
     คำว่าลาย ต่างจาก เพลง คือ
  • เพลง มีความสั้นยาวของวรรคตอนที่ชัดเจน เช่น เพลงลูกทุ่ง เพลงไทยเดิม มี 1- 4 ท่อน เป็นส่วนใหญ่ เมื่อบรรเลงครบแล้วจะย้อนจากท่อน 1 หรือท่อนใดก็ได้จนจบเพลง
  • ลาย จะมีความสั้นยาวไม่แน่นอนและอยู่กับความสามารถบวกกับความเชี่ยวชาญของผู้บรรเลง จะยาวสั้นเท่าไหร่ก็ได้
หมอแคน ประวัติและที่มาของลายดนตรีขึ้นอยู่กับชนิด และความเหมาะสม ในการบรรเลงของเครื่องดนตรีที่ใช้ดำเนินทำนอง ตามความหมายของคำว่าลาย ผู้เชี่ยวชาญการเป่าแคนหรือหมอแคน ยังไม่สามารถแยกคำว่า ลาย และระดับเสียง ออกจากกันได้เนื่องจากมีการปลูกฝังและสืบทอดกันมายาวนาน แต่เท่าที่รับฟังคำบอกเล่าของผู้รู้และหมอแคนพอจะกล่าวได้ว่า
ดนตรีอีสานสามารถแยกระดับเสียงได้โดยยึดแคนเป็นหลัก มี 2 กลุ่มระดับเสียง คือ กลุ่มทางยาว และกลุ่มทางสั้น

  • ทางยาว หมายถึง การบรรเลงประกอบการลำที่มีท่วงทำนองเชื่องช้า เหมาะสำหรับการลำในบทเล่าเรื่อง บทพรรณา บทโศกเศร้า หวนหา
  • ทางสั้น หมายถึง การบรรเลงประกอบการลำที่มีท่วงทำนองกระชับ สนุกสนาน ร่าเริง
แคน มีลายหลักๆ อยู่ 6 ลายโดย แยกตามกลุ่มทางยาวและทางสั้นได้ดังนี้

ลายกลุ่มทางยาวมี 3 ระดับ คือ ลายกลุ่มทางสั้นมี 3 ระดับ คือ
เสียงต่ำ หมอแคนเรียกว่า ทางใหญ่ หรือ ลายใหญ่
เสียงกลาง หมอแคนเรียกว่า ทางน้อย หรือ ลายน้อย
เสียงสูง หมอแคนเรียกว่า ทางเซ หรือ ลายเซ
เสียงต่ำ หมอแคนเรียกว่า สุดสะแนน
เสียงกลาง หมอแคนเรียกว่า ลายโป้ซ้าย (หัวแม่มือซ้าย)
เสียงสูง หมอแคนเรียกว่า ลายสร้อย

       ลายแคน มีดังนี้
  1. ลายสุดสะแนน คำว่า "สะแนน" คงจะเพี้ยนมาจากคำอีสานคำหนึ่งคือ "สายแนน" มีความหมายว่า ต้นตอ หรือสายใย เช่น ถ้าคนเราเคยเกิดเป็นพ่อแม่ลูกกันหรือผัวเมียกันในอดีต ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นดังอดีตอีก เขาเรียกว่าคนเกิดตามสาย "แนน" เนื่องจาก ลายสุดสะแนน เป็นลายครูของแคน มีความไพเราะเป็นพิเศษ จังหวะกระชับและมีลีลาท่วงทำนองตื่นเต้นเร้าใจตลอดเวลา หมอแคนทราบดีว่าจะต้องเป่าลายสุดสะแนนให้เป็นก่อน จึงจะก้าวไปสู่ลายแคนอื่นๆ ได้

    ดังนั้นคำว่า สุดสะแนน ในเรื่องของลายแคนนี้จึงหมายถึงความไพเราะจับใจ ใครได้ฟังลายนี้แล้วมักจะคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน คิดถึงบิดามารดา ญาติพี่น้อง หรือต้องใช้คำว่าเกิดความออนซอน ขึ้นมาอย่างที่สุด นั่นก็คือเขาคิดหวนกลับไปถึง สายแนน ดั้งเดิมของเขานั่นเอง

    สะแนน เป็นภาษาอีสาน หมายถึง เตียง (สำหรับผัวเมียนอน) หรือแคร่สำหรับนอนย่างไฟ (ของหญิงเมื่อคลอดบุตร) จึงหมายถึง ความยากลำบาก คนอีสานมักใช้คำนี้ หลังจากที่ผู้หญิงคลอดลูกแล้วอยู่ไฟ คนอีสานเรียกว่า อยู่กรรม ต้องอาบน้ำร้อน กินน้ำร้อน นอนผิงไฟบนไม้กระดานแผ่นเดียว ซึ่งเป็นความยากลำบากของผู้หญิง
     
  2. ลายอ่านหนังสือใหญ่ หรือลายใหญ่ ในความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไปของคนอีสานหมายถึง "ภาษาบาลี" เช่น คนที่จะเป็นมหาเปรียญต้องเรียนหนังสือใหญ่นั้น มีความศักดิ์สิทธิ์และยุ่งยากต่อการศึกษา จะต้องเรียนกันหลายปี และมีสติปัญญาดี จึงจะเล่าเรียนได้สำเร็จ "ลายอ่านหนังสือใหญ่" เป็นลายแคนที่นิ่มนวล เสียงโหยหวล ทำนองลำยาว แสดงถึงความอบอุ่นมีเมตตา การเป่าลายนี้ผู้เป่าจะต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษไม่ให้มีเสียงเพี้ยนเลย

    ความหมายทางด้านทำนอง หมายถึง การพรรณาชีวิตของคนอีสาน ที่มีทั้งความรักและความผูกพัน ความห่วงใยหวนหา ความอดทนต่อสู้อย่างมีความหวัง และความเพลิดเพลิน บางท่วงทำนองบ่งบอกถึงความรัก และความผูกพันที่มีต่อความรักของชายหนุ่มหญิงสาว ตลอดทั้งความรักที่มีต่อครอบครัว เครือญาติ และผู้ที่รู้จักมักคุ้นที่อาศัยอยู่ด้วยกันในท้องถิ่นตนเอง และใกล้เคียง

    บางท่วงทำนองบ่งบอกถึงความผูกพัน กับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ทั้งในด้านการประกอบอาชีพ ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา จนสร้างสมให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวกันในสังคม บางท่วงทำนองบ่งบอกให้เห็นถึงความอดทนต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ที่รุมเร้าเป็นปัญหาในการดำเนินชีวิต บางเรื่องก็หาวิธีแก้ไขได้ บางเรื่องก็ต่อสู้ไปตามยถากรรม ให้วันเวลาผ่านพ้นไป

    บางท่วงทำนองแสดงถึงการพลัดพรากจากกัน ทั้งที่จากไปแล้วไม่มีวันกลับ บางท่วงทำนองแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ความสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างบริสุทธิ์ เสียงแคนลายใหญ่ หรือ ลายอ่านหนังสือพิมพ์ จะทำให้ผู้ฟังนึกถึงภาพคนอีสานกำลังทำงาน เช่น ทำไร่ ทำนา บางครั้งเหงื่อไหลเข้าตา บางครั้งเหงื่อค่อยๆ ไหลผ่านใบหน้าที่เต็มไปด้วยริ้วรอยอันเหี่ยวย่น แลดูแก่เกินวัยลงสู่พื้น มองดูแววตาเหน็ดเหนื่อย แต่มุ่งมั่นอดทน เพื่อความหวังและการรอคอย
     
  3. ลายอ่านหนังสือน้อย คล้ายคลึงกับลายอ่านหนังสือใหญ่ แต่มีจังหวะที่เร็วกว่า เสียงไม่ทุ้ม ให้ความไพเราะ ท่วงทำนองไม่สลับซับซ้อนเท่าลายอ่านหนังสือใหญ่

    ความหมายทางด้านทำนอง หมายถึงการพรรณาชีวิตของคนอีสานเช่นกัน แต่จะมีเนื้อหาน้อยกว่าลายใหญ่ เนื่องจากมีเสียงจำกัด ไม่สามารถดำเนินทำนองได้เต็มรูปแบบเหมือนลายใหญ่
     
  4. ลายเซ เป็นลายที่สามารถเป่า นอกเหนือจากทางใหญ่ ทางน้อยได้ เป็นทางแยกออกมาและบรรเลงได้เช่นกัน ใช้เป่าประกอบลำยาว

    ความหมายทางด้านทำนอง หมายถึง การพรรณาชีวิตของคนอีสานเช่นกัน แต่ไม่สามารถเก็บราย ละเอียดได้เท่าลายน้อยและลายใหญ่ เนื่องจากมีขีดจำกัดของเสียงมากขึ้นอีก
     
  5. ลายแมงภู่ตอมดอก เป็นลายที่ลอกเลียนธรรมชาติได้ดีเป็นพิเศษ คำว่า แมงภู่ ก็คือ แมลงภู่ตัวใหญ่ๆ สีน้ำเงินแก่มองดูจนเขียว เวลาบินตอมดอกไม้มีเสียงดังหึ่งๆ ลักษณะเสียงของแมงภู่จะมีทำนองลีลาช้าๆ ก่อนแล้วเร็วกะชั้นเข้าตามลำดับ ลีลาของเสียงแคนจะฟังได้เป็นเสียงเล็กเสียงน้อย สมกับเสียงของแมงภู่ตอมดอกไม้จริงๆ
     
  6. ลายโปงลางขึ้นภู ลายแคนนี้ก็เป็นลายดัดแปลงจากธรรมชาติเช่นกัน โปงลางนิยมทำไว้แขนคอวัวต่างๆ ซึ่งนายฮ้อย (พ่อค้า) นิยมเทียมเกวียนเที่ยวไปขายของในที่ต่างๆ เวลาวัวเดินข้ามภูเขา จะมีเสียงขึ้นๆ ลงๆ เป็นทำนอง เพราะวัวแต่ละตัวแขวนโปงลางขนาดที่แตกต่างกัน วัสดุมีความหนาบางต่างกัน เสียงประสานกันของโปงลางจากวัวแต่ละตัวผสมเข้ากับเสียงกีบวัวกระทบก้อนกรวด ก้อนหิน รวมทั้งเสียงออดแอดของล้อเกวียน ฟังแล้ววิเวกวังเวงชวนให้คิดถึงบ้านที่จากมาเป็นที่สุด หมอแคนจะดัดแปลงเลียนเสียงเหล่านี้ขึ้นเป็นลายแคน เรียกกันว่า ลายโปงลางขึ้นภู นั่นเอง
     
  7. ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายแคนนี้เป็นเสียงพิลาปรำพันของหญิงหม้ายที่ว้าเหว้เดียวดายของนาง สะท้อนออกมาในการกล่อมลูกในเปล นางรำพันถึงความหลังและประชดประชันในชีวิตที่ถูกสามีทอดทิ้งไป หมอแคนถอดเอาความรู้สึกนี้มาสู่ลายแคนได้อย่างน่าฟัง เป็นลายเอกอีกลายหนึ่งที่มีคนรู้จักมากหลาย
    "...นอนสาหล่าหลับตาแม่สิกล่อม     นอนอู่แก้วสาแล้วแม่ซิกวย
    แม่สิไปเข็นฝ้ายเดือนหงายเว้าผู้บ่าว           สิไปหาพ่อน้ามาเลี้ยงให้ใหญ่สูง
    ลุงและป้าอาวอาเพิ่นบ่เบิ่ง                           เพิ่นก็เพิ่งบ่ได้เฮือนใกล้เพิ่นก็ซัง"

     
  8. ลายลมพัดไผ่ เป็นลายแคนที่เลียนแบบเสียงธรรมชาติอีกลายหนึ่ง ต้นไผ่ในอีสานมีมากมาย และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่หน่อถึงลำต้น เวลาลมพัดมาแต่ละครั้ง กิ่งไผ่จะลู่ไปตามลมเสียดสีกันดังออดแอด กอร์ปกับลักษณะการหล่นหลุดของใบไผ่จากต้นที่มีลักษณะพิเศษ เนื่องจากใบเล็กเรียวแหลม เมื่อตกลงยังพื้นดินจะเกิดการหมุนเหมือนกังหัน เมื่อตกลงมาพร้อมๆ กันจำนวนมากจะมีความสวยงามเป็นพิเศษ หมอแคนได้จินตนาการเอาลักษณะของใบไผ่ร่วงผสมกับเสียงเสียดสีของกิ่งไผ่ยาม ลู่ลมมาเป็นลายแคนที่ไพเราะ หวีดหวิวน่าฟัง เรียกกันว่า ลายลมพัดไผ่ นั่นเอง
     
  9. ลายลมพัดพร้าว เป็นลายแคนที่จำลองแบบของใบมะพร้าวเมื่อต้องลมซึ่งผิดกันกับใบไผ่ ใบมะพร้าวเมื่อถูกลมจะโยกไหวอย่างเชื่องช้า คราใดที่พายุพัดโบกมาก็จะเอนตัวไปตามสายลมพร้อมกับสะบัดใบเสียงดังเป็น จังหวะ หมอแคนได้ถอดเสียงธรรมชาติออกมาเป็นลายแคนที่ไพเราะน่าฟัง ท่วงทำนองจะช้ากว่าลายลมพัดไผ่
     
  10. ลายล่องของ คำว่า ล่องของ เป็นคำเดียวกับคำว่า ล่องโขง หมายถึงท่วงทำนองลำยาว เอื่ยๆ เรื่อยๆ แต่รัญจวนใจเปรียบเหมือนกับการปล่อยเรือให้มันล่องลอยไปตามกระแสน้ำตามลำน้ำ โขงโดยไม่ต้องพาย ทำนองล่องของนี้จะเป่าแคนเดี่ยวๆ ก็ไพเราะน่าฟัง จะเป่าประกอบหมอลำตอนลำกลอนยาวล่องของก็ม่วนอีหลีเด้อ
     
  11. ลายโป้ซ้าย เป็นลายทางสั้น มีทำนองเดียวกันกับลายสุดสะแนน จะแตกต่างก็ลายสุดสะแนนที่ความยากง่ายของการเล่น มีการติดสูดที่ลูกแคนที่อยู่ตรงตำแหน่งหัวแม่มือซ้าย หรือโป้ซ้าย จึงได้ชื่อลายว่าอย่างนั้น
     
  12. ลายเต้ย เป็นลายแคนที่มีจังหวะกระชับ เร็ว การลำตามปกติจะต้องมาจากลำสั้นโต้ตอบกันระหว่างหมอลำฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เมื่อค่อนรุ่งก็จะเป็นลำลาแบบลำยาวเช่นลำล่องของ จึงจะถึงการเต้ย จังหวะเต้ยเป็นจังหวะกระชับเพื่อให้ผู้ลำได้ออกท่าฟ้อน ฉะนั้นเวลาเต้ยหมอลำจะต้องฟ้อนตลอด ไม่ยืนเฉยเหมือนการลำสั้นลำยาว คนไหนเต้ยได้ดี ฟ้อนได้สวย จะได้รับความนิยมมาก ฉะนั้นเวลาเป่าลายเต้ย หมอแคนจะเป่าเป็นตอนๆ ตามคนเต้ยแล้วมีที่ลง แต่ละตอนไม่ยาวนัก เพื่อให้เกิดความสนุกสนานน่าฟัง อาจสลับด้วยเต้ยหัวโนนตาล แล้วเป็นเต้ยพม่า ตามลำดับก็จะน่าฟังมากขึ้น
     
  13. ลายเซิ้ง เป็นลายง่ายๆ เป่าให้คนฟ้อนในลักษณะเซิ้ง เบื้องต้นจริงๆ มาจากเซิ้งแม่นางด้ง ซึ่งต้องใช้แคนเป่าคลอไป ภายหลังได้ดัดแปลงเป็นเซิ้งต่างๆ เช่น เซิ้งสวิง เซิ้งกะหยัง เซิ้งกระติบข้าว แต่ทำนองก็คล้ายคลึงกัน
     
การพัฒนาของลายแคนยังมีเพิ่มเติมมาอีกหลายลายทั้งที่พัฒนามาจากลาย ดั้งเดิม และลายใหม่ๆ ที่เลียนแบบมาจากเสียง หรือเหตุการณ์ของสังคมที่อยู่รอบข้าง เช่น ลายรถไฟไต่ราง ลายสาวหยิกแม่ ลายสาวสะกิดแม่ ลายภูไทครวญ เป็นต้น
                         
                              ที่มาhttp://www.isangate.com/entertain/kan_05.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้

ยอดคนดู

Powered By Blogger